พระราชินีมารี เดอ เมดีซิส ของ ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส

ภาพเหมือนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส เมื่อยังทรงพระเยาว์โดยจิตรกรของสำนักเซนต์ทิโทภาพเหมือนของพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส โดยรือเบินส์ ราว ค.ศ. 1622-ค.ศ. 1625 (พิพิธภัณฑ์ปราโด สเปน)

พระราชินีมารี เดอ เมดีซิสเป็นพระอัครมเหสีองค์ที่สองในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 โดยการเสกสมรสโดยฉันทะที่ฟลอเรนซ์ในอิตาลีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1600 โดยการอนุมัติของพระปิตุลาของมารี--แฟร์ดีนันโดที่ 1 เด เมดีชี แกรนด์ดุ๊กแห่งทัสกานี[6] เมื่อพระเจ้าอ็องรีพระสวามีทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1610 เจ้าชายหลุยส์พระราชโอรสผู้ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียงแปดพรรษาครึ่ง ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระราชินีมารีพระราชมารดาจึงทรงได้รับการประกาศแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎหมายแซลิกในกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังเป็นผู้เยาว์ แต่เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อมีพระชนมายุได้ 13 พรรษาแล้ว พระองค์ก็ทรงได้เป็นพระมหากษัตริย์แต่โดยนิตินัยเท่านั้น ขณะที่พระราชมารดายังมีพระราชอำนาจในการปกครองโดยพฤตินัย เพราะพระองค์ยังไม่ทรงยอมยุติการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระราชโอรส และยังคงทรงพยายามดำเนินการปกครองแทนพระราชโอรสต่อไป แต่ในที่สุด เมื่อมีพระชนมายุครบ 15 พรรษา ใน ค.ศ. 1615 พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองโดยก่อการปฏิวัติยึดอำนาจคืนจากพระราชมารดา และทรงขับพระองค์ออกจากราชสำนักให้ไปประทับอยู่ที่พระราชวังบลัวในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์

พระเจ้าหลุยส์และพระราชมารดามิได้ทรงคืนดีกันจนกระทั่ง 6 ปีให้หลัง ใน ค.ศ. 1621 เมื่อพระราชินีมารีได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับมายังราชสำนักในปารีสได้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงปารีสพระองค์ก็ทรงเริ่มหันไปสนพระทัยกับการต่อเติมและตกแต่งพระราชวังลุกซ็องบูร์ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มากเมื่อเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์เข้ามามีบทบาท[1] รือเบินส์ผู้ขณะนั้นเป็นจิตรกรประจำสำนักของสำนักดุ๊กแห่งมันโตวาภายใต้การปกครองของวินเชนโซที่ 1 กอนซากา ดุ๊กแห่งมันโตวา[7] รือเบินส์เคยได้เข้าเฝ้าพระราชินีมารีเป็นครั้งแรกในพระราชวโรกาสการเสกสมรสโดยฉันทะเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1600[8]

ค.ศ. 1621 พระราชินีมารีก็ทรงจ้างรือเบินส์ให้เขียนภาพสองชุด ชุดแรกเป็นภาพชุดพระราชประวัติของพระองค์เอง และชุดที่สองเป็นของพระราชสวามีที่เสด็จสวรรคตไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพื่อใช้ในการตกแต่งชั้นแรกของพระราชวังลุกซ็องบูร์[1] ภาพชุดประกอบด้วยจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ 21 ภาพที่เป็นภาพพระราชประวัติของพระราชินีมารีเองส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการใช้อุปมานิทัศน์ ภาพชุดนี้เขียนเสร็จในปลาย ค.ศ. 1624 เพื่อให้ทันกับพระราชวโรกาสการเสกสมรสของพระราชธิดาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียกับพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1625[9] ภาพชุดที่สองที่ตั้งใจจะให้เป็นภาพพระราชประวัติของพระราชสวามี--พระเจ้าอ็องรีที่ 4--ไม่ได้รับการเขียนให้สำเร็จ จึงมีแต่ภาพร่างเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่[9] (ดู "ภาพชุดพระเจ้าอ็องรี" ข้างล่าง) สาเหตุที่ชุดที่สองเขียนไม่เสร็จก็คงอาจจะเป็นเพราะพระราชินีมารีทรงถูกห้ามไม่ให้เข้าราชสำนักฝรั่งเศสเป็นการถาวรโดยพระราชโอรสใน ค.ศ. 1631 ซึ่งทำให้ต้องทรงหนีไปประทับอยู่ที่บรัสเซลส์ และในที่สุดก็ไปเสด็จสิ้นพระชนม์ขณะที่ประทับลี้ภัยอยู่ที่นั่นใน ค.ศ. 1642 ในบ้านเดียวกับที่ครอบครัวรือเบินส์เป็นเจ้าของเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้านั้น[10]

ขณะที่ "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" เป็นงานจิตรกรรมสำคัญชุดแรกที่รือเบินส์ได้รับจ้างให้เขียน การเขียนภาพยี่สิบเอ็ดภาพที่เกี่ยวกับชีวิตของสตรีที่เหตุการณ์และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตขึ้นอยู่กับพระสวามีพระเจ้าอ็องรีที่ 4 และการให้กำเนิดพระราชโอรสธิดาหกพระองค์ (พระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์) ไม่ใช่หัวข้อที่เขียนได้ง่ายนัก[11] นอกจากนั้นในช่วงเวลานั้นสตรีมักจะไม่ได้รับการสรรเสริญมากเท่าใดนัก แต่กระนั้นรือเบินส์ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดในการที่จะรับงานเช่นนั้น และเป็นผู้มีความนับถือ "คุณธรรมของเพศตรงข้าม" เช่นที่เห็นในงานเขียนภาพเหมือนของอาร์ชดัชเชสอิซาเบลลา[11] นอกจากนั้นแล้วความยิ่งใหญ่หรือความมีเนื้อหาของพระราชประวัติของพระราชินีมารีก็ไม่อาจจะเทียบเท่าได้กับพระราชประวัติของพระราชสวามี ตรงที่พระองค์ไม่เคยทรงมีชัยชนะในยุทธการใด หรือการเอาชนะต่อศัตรู[11] พระราชประวัติของพระองค์จะมีก็แต่เรื่องราวที่เป็นนัยเกี่ยวกับข่าวลือทางด้านความเสียหายทางการเมือง ซึ่งทำให้การเขียนภาพตามเหตุการณ์ที่เป็นจริงโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ ภายในราชสำนักเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน นอกจากการที่จะต้องคำนึงถึงความพอพระทัยของพระราชินีแล้ว รือเบินส์ก็ยังต้องพยายามเขียนภาพที่ไม่ก่อให้เกิดการไม่ยอมรับโดยสมาชิกในคณะรัฐบาลที่ปกครองฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้นด้วย[12] แต่แทนที่จะเป็นงานที่ล้มเหลวเพราะอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าว รือเบินส์กลับแสดงให้เห็นถึงความรู้อันลึกซึ้งในวรรณคดีคลาสสิกและธรรมเนียมของการสร้างงานของศิลปิน[13] โดยการใช้สัญลักษณ์ของอุปมานิทัศน์ ทั้งในการสรรเสริญเหตุการณ์ที่ตามปกติแล้วก็เป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดา และในการแปลงภาพเหตุการณ์ที่ไม่ไคร่ดีนักในชีวิตของพระองค์ให้ดูเลิศลอยขึ้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีการศึกษาจะมีความเข้าใจในการใช้สัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนาและสัญลักษณ์ของกรีกและโรมันในงานศิลปะ[14] รือเบินส์จึงใช้พื้นฐานดังว่านี้ในการแฝงความหมายต่าง ๆ ที่ทำให้กลายเป็นภาพชุดอันเลิศเลอของพระราชินีที่ล้อมรอบไปด้วยเทพเจ้ากรีกและเทพเจ้าโรมัน และบางครั้งก็ถึงกับยกพระองค์ขึ้นเป็นเทพ ความกำกวมของภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างภาพที่สรรเสริญพระองค์[15] และสร้างความหมายที่เป็นนัยที่ช่วยเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้

"ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดีซิส" ของรือเบินส์เป็นภาพชุดที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรอื่น ๆ ในยุคนั้นโดยเฉพาะต่อจิตรกรฝรั่งเศส อ็องตวน วาโต (ค.ศ. 1684-1721) และฟร็องซัว บูเช (ค.ศ. 1703-1770) ผู้สร้างงานก๊อบปี้ของภาพชุดนี้[16]